Google " /> บัญญัติ 10 ประการ ของงานออกแบบที่ดี - แนวคิดอมตะจาก Dieter Rams - kruathaiminium

บัญญัติ 10 ประการ ของงานออกแบบที่ดี - แนวคิดอมตะจาก Dieter Rams

5447 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บัญญัติ 10 ประการ ของงานออกแบบที่ดี - แนวคิดอมตะจาก Dieter Rams

เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ Dieter Rams ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ เมืองนิวยอร์ก ถึงความสำคัญของการนำ “ศาสตร์ของผู้ใช้” (User-centered Design) มาเป็นหัวใจหลักในการออกแบบ พร้อมกับได้ให้ “บัญญัติ 10 ประการของงานออกแบบที่ดี” ไว้เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับนักออกแบบรุ่นหลัง แต่ที่น่าประหลาดใจคือ แม้ว่าเวลาจะผ่านไป 40 ปีแล้ว สุนทรพจน์ที่ Rams เคยกล่าวในวันนั้น กลับคงความ “ร่วมสมัย” ไว้ได้ราวกับว่ามันเพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้ (!)

 

Dieter Rams เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติรูปแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Braun (แบรนด์ดังสัญชาติเยอรมัน) และเขาคนนี้แหละที่เป็นต้นแบบการทำงานของ Jonathan Ive หัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Apple Computer

Dieter Rams เคยทำงานให้กับ Vitsœ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอังกฤษ แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่า ผลงานการออกแบบเมื่อ 50 ปีที่แล้วของเขา (ภายใต้ชื่อ Rams’s Modular) ก็ยังคงไว้ซึ่งความร่วมสมัย และถูกผลิตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ต่อไปนี้ คือ บทสุนทรพจน์อันยอดเยี่ยมที่ Dieter Rams อนุญาติให้ Vitsœ นำกลับมาเผยแพร่อีกครั้ง

“เรียนท่านสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรี ณ วันนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถแข่งขันในท้องตลาดได้ งานออกแบบได้ก้าวเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบธุรกิจ งานออกแบบนั้นเปรียบเสมือนกับกุญแจในการสร้างเอกลักษณ์ความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ โดยที่ผู้บริโภคของเราจะสามารถสัมผัสถึงมันได้”

“องค์กรใดที่ต้องการประสบความสำเร็จในธุรกิจจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงความสำคัญของงานออกแบบด้วย อย่างไรก็ดี นิยามความสำเร็จของเรา (Vitsœ) อาจจะแตกต่างจากแนวทางของหลายๆ ท่าน เพราะเราต้องการให้กับผลิตภัณฑ์มีคุณค่ามากกว่าแค่เพียงมิติเดียว”

“งานออกแบบของเราจะคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเรามีเป้าหมายหลักที่จะลดความสูญเสียตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบของเราครับ”


“ฟังก์ชั่น” หัวใจที่ไม่สามารถมองข้ามได้

งานออกแบบที่ดีจะต้องมีทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายขององค์กร ตลอดระยะเวลา 20 ปี Dieter Rams ได้ใช้แนวคิดนี้ในการทำงาน (ทั้งที่ Braun และ Vitsœ) โดยเขามองว่า การให้นักออกแบบภายนอกที่ไม่เข้าใจองค์กรมาทำการออกแบบผลิตภัณฑ์ใดๆ นั้น จะส่ง “ผลลบ” ต่อทิศทางการเติบโตขององค์กรด้วย ในทางตรงกันข้าม Rams เชื่อมั่นว่า งานออกแบบที่ดีจะเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือร่วมใจของพนักงานทุกคนในองค์กร เหมือนดั่งเช่นที่เขาเคยทำสำเร็จมาแล้วที่ Vitsœ

 

ในปี 1957 Rams ได้เริ่มพัฒนาชุดเฟอร์นิเจอร์สำหรับจัดเก็บสิ่งของ (อันเป็นที่มาของการก่อตั้งแบรนด์ Vitsœ ในอีก 2 ปีถัดมา) โดยเขาเผยว่า การคิดอย่างละเอียดรอบคอบระหว่างการออกแบบนั้น จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นสามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้อย่างสูงสุด ซึ่งงานออกแบบใดที่ไม่คำนึงถึงจุดนี้ นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไร้คุณค่าแล้ว มันยังอาจก่อความรำคาญให้กับผู้ใช้ด้วย

 

แน่นอนว่างานออกแบบที่ดีคือจุดเริ่มต้นขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ แต่ถึงกระนั้นความสำเร็จในความหมายของ Dieter Rams อาจจะไม่ตรงกับแนวคิดของคนอื่นก็ได้ เพราะว่าเขาได้นำเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ ทีมงานทุกคนจะต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะลดปริมาณการใช้วัสดุ การใช้พลังงาน ฯลฯ ที่จะเกิดขึ้นตลอดกระบวนการผลิต

งานออกแบบที่ดี คืออะไร

Dieter Rams เชื่อว่า องค์รวมของงานออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นประกอบไปด้วย รูปทรง สี วัสดุ และโครงสร้าง ซึ่งการที่ผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งจะตอบสนองต่อผู้ใช้ได้อย่างสูงสุดนั้น ผู้ออกแบบจะต้องไม่มองตัวเองเป็นศิลปินผู้หลงใหลในความงามเพียงอย่างเดียว (เพราะความงามเป็นเพียงสิ่งที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์เท่านั้น) สำหรับ Rams แล้ว “ความสวยงาม” ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของงานออกแบบทั้งปวง

 

ในทางตรงกันข้าม นักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีควรให้ความสนใจกับ “โครงสร้างทางวิศวกรรม” ของผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นก่อน และท้ายที่สุด ความงามของตัวผลิตภัณฑ์ก็จะเกิดขึ้นเองจากประโยชน์ใช้สอย และความรู้สึกดีๆ ที่ผู้บริโภคให้มา นี่คือหลักของการออกแบบที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (User-centered Design) ซึ่งความงามที่แท้จริง หมายถึง การที่ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างสูงสุด (ส่วนรูปลักษณ์ความสวยงามเป็นสิ่งสำคัญอันดับรองลงมา)

 

ที่สำคัญผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นนอกจากจะต้องมีประโยชน์ใช้สอยในตัวมันเองแล้ว มันยังจะต้องตอบสนองต่อการใช้งานภายใน “บริเวณติดตั้ง” ด้วย การคำนึงถึงปัจจัยข้อนี้ส่งผลให้ชั้นวางอเนกประสงค์ Vitsœ’s 606 ของ Rams มีรูปแบบที่เรียบง่าย และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ “ปรับตัว” เข้ากับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะวางไว้ในห้องใดก็ตาม

 

นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะที่ถูกต้องตามหลักกายศาสตร์ (Ergonomic) ซึ่งนักออกแบบทุกคนควรทำความเข้าใจต่อระบบความสัมพันธ์ (ระหว่างผลิตภัณฑ์กับผู้ใช้) นี้ให้ดีก่อน อาทิเช่น ความสัมพันธ์ในเรื่องของขนาด ความสูง ความรู้สึก ความเข้าใจต่อประโยชน์ใช้สอย ฯลฯ

 

ด้วยเหตุนี้เอง ในกระบวนการออกแบบของ Vitsœ จึงเลือกใช้วิธีการสังเกตและศึกษาผู้ใช้โดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกว่า ผู้บริโภคมีความต้องการอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่บ้าง การศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ Vitsœ สามารถรู้ลึกถึงโอกาสในการใช้งานของชั้นอเนกประสงค์และเก้าอี้พร้อมที่วางแขนได้มากขึ้น (ทั้งๆ ที่ผู้บริโภคเองอาจจะไม่เคยนึกถึงประโยชน์ใช้สอยนั้นๆ มาก่อนเลย)


การจัดลำดับความสำคัญ ความสะอาด และ ความเป็นระเบียบ คือการสร้างประโยชน์สูงสุด

จุดเด่นอีกข้อของ Vitsœ คือ การให้ความใส่ใจกับเรื่อง “การจัดลำดับความสำคัญในงานออกแบบ” สิ่งนี้ถือเป็นการสื่อสารทางอ้อมให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึง “การใช้งาน” ของตัวผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น การจัดลำดับความสำคัญของ ลักษณะ รูปทรง ขนาด สัดส่วน สี และองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งหมด

 

นอกจากนั้น งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีควรจะดูเรียบง่าย ทุกส่วนของผลิตภัณฑ์มีความสมดุลและกลมกลืนไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้าง ส่วนประกอบ รวมไปถึงการตกแต่งชิ้นงานเพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ สามารถ “ใช้งานได้ง่ายที่สุด”

งานออกแบบที่ดีที่สุด คือ งานออกแบบที่น้อยที่สุด

ถ้าเราหวังให้การออกแบบช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค ผ่านการตกแต่งที่สวยงามหรือการทำให้ผลิตภัณฑ์ดูเท่มีเสน่ห์ Dieter Rams คิดว่า การสร้างงานในลักษณะนี้ไม่ใช่งานออกแบบ แต่เป็นการใส่เสื้อผ้าให้กับผลิตภัณฑ์เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม งานออกแบบที่ดีจะต้องคำนึงถึงทุกรายละเอียดทางด้านประโยชน์ใช้สอย รวมทั้งมีความสะอาดตา และใช้งานง่าย แนวคิดนี้จะทำให้ผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ มีวงจรชีวิตที่ยืนยาวที่สุด

นวัตกรรม คือ คำตอบ

วิวัฒนาการด้านผลิตภัณฑ์ของ Vitsœ ไม่ได้ถูกตีกรอบจากเทคโนโลยีการผลิต อีกทั้งยังสามารถปรับรูปแบบไปได้เรื่อยๆ ตามลักษณะการพักอาศัย อย่างไรก็ดี Vitsœ เองไม่เคยหยุดที่จะมองหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พวกเขาพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับได้กับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต และพร้อมที่จะปรับตัวเข้าหานวัตกรรมใหม่ๆ เสมอ (ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ของคุณไม่มีการพัฒนาแล้วล่ะก็ ผู้บริโภคก็พร้อมที่จะเขี่ยคุณทิ้งเช่นกัน)

 

บริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม

Vitsœ รู้ว่าสิ่งแวดล้อมและบริบทที่เปลี่ยนไปมีอิทธิพลอย่างมากต่องานออกแบบ พวกเขาจึงจำเป็นต้องศึกษาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น อาคารบ้านเรือนที่เติบโตในแนวดิ่ง พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่น้อยลง โครงสร้างทางด่วน รูปแบบไฟตามท้องถนน หรือแม้กระทั่งวิธีการจอดรถ เพราะสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และที่จะลืมไม่ได้เลย ก็คือ โลกที่เราอาศัยอยู่นี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางลบมากกว่าทางบวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุการผลิต พลังงาน อาหาร รวมไปถึงพื้นดิน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่องานออกแบบโดยตรง ดังนั้น กระบวนการจัดการเรื่องทรัพยากรจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่นักออกแบบในปัจจุบันต้องทำความเข้าใจ

 

What we think :

น่าแปลกว่าสิ่งที่ Dieter Rams เคยพูดไว้เมื่อ 4 ทศวรรษก่อนจะยังคงความร่วมสมัยไว้ได้ถึงเพียงนี้ ไม่ต่างกับหัวใจในการออกแบบของ Vitsœ ที่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด งานนี้เราคงต้องยกเครดิตให้กับ Niels Vitsœ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ รวมไปถึงพนักงานทุกคนในองค์กร ที่พยายามยึดมั่นในแนวคิด User-centred design และให้ความใส่ใจกับผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เราได้แต่หวังว่าแนวคิดที่ขับเคลื่อนแบรนด์ Vitsœ จะได้รับการนำไปปรับใช้ในวงที่กว้างขึ้นๆ ของโลกปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูล :

http://www.fastcodesign.com/1669725/dieter-rams-on-good-design-as-a-key-business-advantage

http://www.vitsoe.com/


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้